วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

สมัยประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

สมัยประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

หลักฐานเกี่ยวกับการเริ่มสมัยประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นสมัยที่เริ่มมีตัวอักษร ใช้ในดินแดนประเทศไทยที่เก่าแก่ที่สุด คือ ศิลาจารึก ซึ่งพบในหลายๆ ที่ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น ที่ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ซับจำปา จังหวัดลพบุรี แต่จารึกที่ปรากฏศักราชชัดเจนที่สุด พบที่ปราสาทเขาน้อย จังหวัดสระแก้ว ระบุศักราช 559 ซึ่งเป็นมหาศักราช หรือตรงกับ พ.ศ. 1180 จารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษาสันกฤตและเขมร สำหรับสมัยประวัติศาสตร์ในดินแดนไทยนิยมแบ่งดังนี้
1) สมัยอาณาจักรโบราณ หรือสมัยก่อนสุโขทัย ดินแดนที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบันในอดีตมีอาณาจักรตั้งอยู่หลายอาณาจักร แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาณาจักรเก่าแก่ที่สุดน่าจะอยู่บริเวณภาคกลางของดินแดนไทย คือ อาณาจักทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11 -16) ซึ่งมีศูนย์กลางในเขตจังหวัดนครปฐม โดยพบเหรียญเงินที่มีจารึกว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” สำหรับอาณาจักรโบราณอื่นๆ เช่น ละโว้ (พุทธศตวรรษที่ 12 -18) ตามพรลิงค์ (พุทธศตวรรษที่ 7 -19) ศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13 – 19) เป็นต้น
2) สมัยสุโขทัย (ราว พ.ศ. 1792 – พ.ศ. 2006) เริ่มตั้งแต่การสถาปนา อาณาจักรสุโขทัย จนสุโขทัยรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา สมัยสุโขทัยเป็นช่วงที่มีการสร้างสรรค์อารยธรรมหลายประการ เช่น การประดิษฐ์ตัวอักษรไทย การรับนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท การจัดระเบียบการปกครอง การสร้างสรรค์ศิลปะแบบสุโขทัย เช่น เจดีย์ทรงดอกบัวตูม (หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) พระพุทธรูปปางลีลา เป็นต้น
p[

ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 หรือศิลาจารึกวัดศรีชุม
พบที่วัดศรีชุม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
3) สมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893 – พ.ศ. 2310) เมื่ออาณาจักรสุโขทัยเสื่อม อำนาจคนไทยทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตั้งอาณาจักรใหม่ คือ อยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1893 ซึ่งยืนยาวถึง 417 ปี จนถึง พ.ศ. 2310 อยุธยาจึงเสื่อมอำนาจลง
สมัยอยุธยาเป็นสมัยที่มีการสร้างความเป็นปึกแผ่นของคนไทย มีการสร้างสมมรดกของชาติที่สำคัญในทุกๆด้าน ทั้งนี้นักประวัติศาสตร์ได้แบ่งสมัยอยุธยาออกเป็นสมัยย่อยๆ อีก ดังนี้
(1) สมัยการวางรากฐานอำนาจและเสริมสร้างความั่นคง (พ.ศ. 1893 – 1991) คือ สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ถึงสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาเริ่มต้น อาณาจักรยังมีขนาดเล็ก การบริหารจึงเป็นการพยายามทำให้อาณาจักรมั่นคงเข้มแข็ง โดยการเป็นพันธมิตรกับขอมหรือเขมรในระยะแรก ต่อมาเมื่อขอมเปลี่ยนท่าทีจากการเป็นมิตรหรือเอาใจออกห่าง อยุธยาจึงยกทัพไปตีขอม นอกจากนั้นยังมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศโดยเฉพาะกับจีน
(2) สมัยที่มีอำนาจทางการเมืองและมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ (พ.ศ. 1991 – 2231) คือ สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นช่วงเวลาที่อยุธยามีการปกครองที่มั่นคงเป็นระบบยิ่งขึ้น และมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติอย่างกว้างขวาง ทั้งในทวีปเอเชียและยุโรป แม้ว่าไทยจะเสียกรุงศรีอยุธยาในครั้งที่ 1 แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ และก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว สมัยนี้มีกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่หลายพระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
(3) สมัยเสื่อมอำนาจ (พ.ศ. 2231 – 2310) คือ จากสมัยสมเด็จพระเพทราชาถึงสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) นับเป็นช่วงเวลาที่อยุธยามีความเข้มแข็งน้อยลง เนื่องจากเกิดกบฏภายในมีการแย่งชิงอำนาจกันหลายครั้ง และถูกข้าศึกโจมตีจนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการสิ้นสุดสมัยอยุธยา
การแบ่งเป็นสมัยย่อยข้างต้นทำให้เห็น ลักษณะสำคัญของประวัติศาสตร์อยุธยาได้ชัดเจน และเข้าใจได้ดี แต่มีนักประวัติศาสตร์บางท่านก็จัดแบ่งในลักษณะอื่นด้วย เช่น แบ่งตามราชวงศ์ที่ปกครอง ดังนี้
1.สมัยราชวงศ์อู่ทอง                  พ.ศ. 1893 – 1913 และ พ.ศ. 1931 – 1952
2.สมัยราชวงศ์สุพรรณภูมิ           พ.ศ. 1913 – 1931 และ พ.ศ. 1952 – 2112
3.สมัยราชวงศ์สุโขทัย               พ.ศ. 2112 – 2173
4.สมัยราชวงศ์ปราสาททอง       พ.ศ. 2173 – 2231
5.สมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง       พ.ศ. 2231 – 2310
การแบ่งดังกล่าวข้างต้น ทำให้เห็นได้ชัดว่าอยุธยาอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ใดบ้าง ราชวงศ์ใดปกครองยาวนานที่สุด และอาจเปรียบเทียบว่าในสมัยราชวงศ์ใดที่อยุธยารุ่งเรืองหรือเสื่อมอำนาจ
4) สมัยธนบุรี (พ.ศ.2310 – พ.ศ. 2325) เป็นสมัยกอบกู้อิสรภาพของ บ้านเมืองหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2310 เพื่อทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมีอำนาจขึ้นมาใหม่  มีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ศิลปกรรม วรรณกรรม เช่น สมเด็จพระเจ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯ ให้เขียนสมุดภาพไตรภูมิทรงให้ฟื้นฟูละครหลวงขึ้นใหม่ ทรงประพันธ์บทละครรามเกียรติ์ ในด้านเศรษฐกิจ ทรงฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้ในสมัยธนบุรียังเป็นสมัยที่มีการทำสงครามกับพม่าเกือบตลอดเวลา และขยายอำนาจไปยังล้านนา ล้านช้างอีกด้วย
5) สมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325 – ปัจจุบัน) เริ่มจากสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่่งแบ่งเป็นสมัยย่อยได้ ดังนี้
(1) สมัยรัตรโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2325 – 2394) ในช่วงเวลา 3 รัชกาลแรก คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เป็นสมัยของการฟื้นฟูประเทศต่อจากสมัยธนบุรี หรือเรียกกันว่า “สมัยการทำให้เหมือนเมื่อครั้งที่บ้านเมืองดี” คือ ให้เหมือนสมัยอยุธยาในเวลาที่บ้านเมืองสงบสุข
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นช่วงที่มีการฟื้นฟูบ้านเมืองในทุกด้าน เช่น ด้านการเมืองการปกครองรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมาย เรียกกันว่า กฎหมายตราสามดวง ทรงให้ขุดคลองรอบกรุง สร้างป้อมปราการและกำแพงพระนคร ทรงทำสงครามเพื่อสร้างความมั่นคงแก่บ้านเมือง รัชกาลที่ 2 ทรงตรากฎหมายห้ามสูบฝิ่น ใน พ.ศ. 2354 และ พ.ศ. 2362 รัชกาลที่ 3 ทรงทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับอังกฤษ
ด้านสังคมและวัฒนธรรม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้สร้างพระบรมมหาราชวังและวัดให้มีรูปแบบเหมือนสมัยอยุธยา ทรงให้สงคายนาพระไตรปิฎก ออกกฎหมายคณะสงฆ์ ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีสมัยอยุธยา เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงส่งเสริมวรรณกรรมทั้งทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ และโปรดเกล้าฯ ให้แปลหนังสือจีนเป็นภาษาไทย เช่น สามก๊ก รัชกาลที่ 2 ทรงบูรณะวัดอรุณราชวราราม ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีวิสาขบูชา ทรงส่งเสริมด้านศิลปกรรมและวรรณกรรม รัชกาลที่ 3 ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงสร้างและบูรณะวัดจำนวนมาก
(2) สมัยรัตนโกสินทร์ยุคปรับปรุงประเทศ (พ.ศ. 2394 – 2475) ในช่วงเวลา 4 รัชกาลต่อมา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ถึง พ.ศ. 2475 สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย และเป็นสมัยของการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย
สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงการเริ่มปรับปรุงประเทศ เช่น เปิดการติดต่ออย่างเป็นทางการกับชาติตะวันตกด้วยการทำสนธิสัญญาทางพระ ราชไมตรีและการค้า มีการปรับปรุงการคมนาคม เช่น ตัดถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง ขุดคลอง เช่น คลองภาษีเจริญ คลองมหาสวัสดิ์ คลองเจดีย์บูชา มีการจ้างชาวตะวันตกมาทำงาน เช่น ฝึกทหาร สอนหนังสือเจ้านาย เป็นต้น
สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสมัยของการปฏิรูปประเทศในทุกด้านเพื่อพัฒนาประเทศให้ทันสมัย และป้องกันการยึดครองจากจักรวรรดินิยมตะวันตกมีการปฏิรูป เช่น ปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ ปฏิรูปสังคมด้วยการเลิกทาส เลิกไพร่ ขยายการศึกษา ปฏิรูปบ้านเมือง เช่น พัฒนาการคมนามคม สืื่อสารด้วยการสร้างทางรถไฟ รถราง ใช้โทรเลข ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น
สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นช่วงของการนำประเทศเข้าสู่สังคมโลก เช่น ส่งทหารเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 สร้างแนวคิดชาตินิยมให้จงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กำหนดให้ใช้นามสกุล คำนำหน้านาม ธงไตรรงค์ ในสมัยนี้ได้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและมีการเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย
สมัยรัชกาลที่ 7 เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รัฐบาลต้องลดงบประมาณและจำนวนข้าราชการ เกิดกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
(3) สมัยประชาธิปไตย (พ.ศ.2475 – ปัจจุบัน) เป็นช่วงเวลาที่ไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ อำนาจการปกครองแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมากว่า 70 ปียังไม่มั่นคงนัก เพราะมีการปฏิวัติรัฐประหารหลายครั้ง รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหลายฉบับ สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ 18 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550
สรุปการแบ่งสมัยประวัติศาสตร์ของไทย
การแบ่งสมัยประวัติศาสตร์ไทยดังกล่าวข้างต้น เป็นการแบ่งโดยยึดอาณาจักหรือราชธานีเป็นสำคัญ แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการแบ่งเป็นสมัยย่อยๆ โดยยึดการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและการปกครองร่วมกันมาเป็นเกณฑ์
อย่างไรก็ดีมีนักประวัติศาสตร์บางคนเสนอการแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์ไทยเป็น 2 สมัย ดังนี้
1.ประวัติศาสตร์ไทยสมัยโบราณ นับจากเริ่มแรกจนถึง พ.ศ. 2394
2.ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2394 จนถึงปัจจุบัน
การแบ่งเช่นนี้ถือตามการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองเป็นสำคัญ นั่นคือ พัฒนาการของบ้านเมืองตามแบบเก่าถือเป็นประวัติศาสตร์สมัยโบราณ แต่เมื่อมีการปรับปรุงประเทศตามแบบชาติตะวันตก ซึ่งเริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถือเป็นประวัติศาสตร์สมัยใหม่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น